ศัพท์ประกันคุณภาพตอนที่ 1

คุณภาพการศึกษา  หมายถึง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามปณิธานและภารกิจของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามนโยบายการของประเทศ อุดมศึกษาของประเทศ ตลอดจนปณิธานและภารกิจ
เฉพาะในการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบัน
การประกันคุณภาพการศึกษา  หมายถึง การมีระบบและกลไกในการควบคุมตรวจสอบ และประเมินการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพตามดัชนีบ่งชี้ที่กำหนด เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนได้มั่นใจว่าสถาบันนั้น ๆ สามารถให้ผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
ระบบและกลไก  หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกในการดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย
การควบคุมคุณภาพการศึกษา หมายถึง การมีระบบและกลไกในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพ เพื่อกำกับการดำเนินงานของสถาบันให้ได้ผลตามดัชนีบ่งชี้คุณภาพที่กำหนด
การตรวจสอบคุณภาพการศึกษา หมายถึง กระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์ว่าสถาบันมีระบบและกลไกกำกับการควบคุมคุณภาพและได้ปฏิบัติ ตลอดจนมีผลการปฏิบัติตามระบบและกลไกดังกล่าว
การประเมินคุณภาพการศึกษา หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของสถาบันว่าส่งผลต่อคุณภาพตามดัชนีบ่งชี้
องค์ประกอบคุณภาพ หมายถึง ปัจจัยหลักในการดำเนินงานของสถาบันที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาดัชนีบ่งชี้คุณภาพ หมายถึง ตัวบ่งชี้ว่าการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด
ผลผลิตทางการศึกษา หมายถึง ผลการดำเนินตามภารกิจหลัก ประกอบด้วยการผลิตบัณฑิต การวิจัยการบริการทางวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภารกิจหลักอื่น ๆ ของสถาบันอุดมศึกษา
มาตรฐานการศึกษ หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแลการตรวจสอบ การประเมินผลและการประกันคุณภาพทางการศึกษา
การประกันคุณภาพภายใน หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น
การประกันคุณภาพภายนอก หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
การประเมินคุณภาพภายนอก หมายถึง การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม การตรวจ สอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งกระทำโดยสำนักงานฯ หรือผู้ประเมินภายนอก แล้วแต่กรณี เพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันศึกษาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นการรับรองมาตรฐาน หมายถึง การให้การรับรองการทำการประเมินคุณภาพภายนอกของผู้ประเมินภายนอก ที่มีคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐาน  

ศัพท์ประกันคุณภาพตอนที่ 2

องค์ประกอบคุณภาพ (Quality Factors):
ปัจจัยหลักในการดำเนินงานของสถาบันที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา ได้แก่ ปรัชญา ปณิธาน ภารกิจและวัตถุประสงค์ การเรียนการสอน การพัฒนาและสนับสนุนนักศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน   การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การบริหารและจัดการ  การเงินและงบประมาณ  และการประกันคุณภาพ
การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis):
การวิเคราะห์เพื่อค้นหาจุดแข็ง (strength) และจุดอ่อน (weakness) ซึ่งเป็นสภาพภายในขององค์กร และวิเคราะห์โอกาส (opportunities) และอุปสรรค (threat) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม     ภายนอกองค์กร ซึ่งรวมถึงปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
ตัวบ่งชี้คุณภาพ (Quality Indicators):
ตัวบ่งชี้ว่าการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่พึงประสงค์
รายงานการศึกษาตนเอง (Self-Study Report):
รายงานที่แสดงผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในรอบปีที่ผ่านมาว่ามีการดำเนินการตามระบบและกลไก           การประกันคุณภาพการศึกษาหรือไม่ และมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของหน่วยงาน ตลอดจนแนวทางแก้ไข
รายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report):
รายงานที่แสดงผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ในรอบปีที่ผ่านมา และมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน วางแผนการแก้ไขจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของวิธีปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
วิสัยทัศน์ (Vision):
1.สิ่งที่หน่วยงานมุ่งหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตที่ประชาคมทุกส่วนของ หน่วยงานร่วมกันกำหนดบนพื้นฐานของสถานภาพในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงวัตถุประสงค์ ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อมั่น ไปสู่ความมุ่งหวังนั้น วิสัยทัศน์ของหน่วยงานจะเป็นสิ่งที่บอกถึงทิศทางการพัฒนา ความเป็นไปได้ของการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุด
2. ความสามารถในการมองการณ์ไกล หรือ มโนภาพต่อสิ่งอันพึงปรารถนา ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต (ราชบัณฑิตยสถานใช้ วิทัศน์ = “The ability or an instance of great perception”)
3. ภาพองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยมีพื้นฐานอยู่บนความจริง ในปัจจุบัน
4. ภาพกว้าง ภาพฝัน (Imagination) ที่ต้องการให้องค์กรเป็นในระยะเวลาที่กำหนดหรือวางเป้าไว้
พันธกิจ (Mission): 
1: ภารกิจหลักขององค์กร และภารกิจที่องค์กรต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์
2: การระบุบทบาท ภารกิจหลัก และวัตถุประสงค์ขององค์กรที่รวมถึงความแข็งแกร่ง ความชำนาญพิเศษ หรือจุดเด่น
ดัชนีบ่งชี้คุณภาพ (Quality Index) :  ลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความมีคุณภาพ
สมรรถนะ (Competency)  :  ความรู้ ทักษะและพฤติกรรมที่บุคลากรขององค์กรต้องมี เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน
PDCA  คือ วงจรการบริหารงานคุณภาพ
P = Plan คือ การวางแผนงานจากวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้กำหนดขึ้น
D = Do คือ การปฏิบัติตามขั้นตอนในแผนงานที่ได้เขียนไว้อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง
C = Check คือ การตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ล่ะขั้นตอนของแผนงานว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนงานในขั้นตอนใด
A = Action คือ การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่มีปัญหา หรือถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ก็ยอมรับแนวทางการปฏิบัติตามแผนงานที่ได้ผลสำเร็จ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานครั้งต่อไป