บรรณาธิการ (Editor) เป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดทำ รวบรวม ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุม เนื้อหาและภาพทั้งหมดที่จะตีพิมพ์เป็นหนังสือ หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดว่าจะออกเรื่อยไปตามลำดับ
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ประชุมเนื้อหา คอลัมน์ต่างๆ ที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ภาพประกอบ กราฟิก จากนั้นก็หาข้อสรุปจากที่ประชุม
2. ในช่วงปฏิบัติงานจริง ทุกตำแหน่งหน้าที่ก็จะแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง นักเขียนต้องไปหาแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้ตรงกับคอลัมน์สัมภาษณ์บุคคลที่ เกี่ยวข้อง สไตลิสต์รับผิดชอบเรื่องเสื้อผ้า เครื่องประดับ ช่างภาพ กราฟิก และหน้าที่อื่น ๆ
3. รวบรวมชิ้นงานจากทุกฝ่ายส่งมายังบรรณาธิการ บรรณาธิการก็จะเป็นคนตรวจทั้งหมดมีส่วนไหนที่ผ่าน หรือผิดพลาด ไม่เหมาะสม จะต้องแก้ไข
4. หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากบรรณาธิการแล้วถึงขั้นตอนต้องนำหนังสือเข้าไปตีพิมพ์โรงพิมพ์ก็จะตรวจและส่งกลับมาให้จนกว่าจะถูกต้องทั้งหมด และเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์และเมื่อเสร็จแล้วก็นำออกไปจัดจำหน่ายต่อไป
ประเภทของบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการอำนวยการ ทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงาน ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติการของสิ่งพิมพ์
2. บรรณาธิการที่ปรึกษา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บรรณาธิการ ในกรณีต่างๆ
3. บรรณาธิการบริหาร หรือ บรรณาธิการใหญ่ ทำหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายนโยบายของสิ่งพิมพ์ในภาพรวม ทั้งเรื่องธุรกิจ และการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ
4. บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ทำหน้าที่จัดการ และรับผิดชอบในการพิมพ์ ตลอดจนจัดการ ให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายออกไป ด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาย หรือให้เปล่า รวมถึงการเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ลงตีพิมพ์ โดยมักจะตกเป็นจำเลย ในกรณีที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนมีผู้ให้ฉายาว่า “บ.ก.ติดคุก”
5. บรรณาธิการภาพ ทำหน้าที่รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอภาพในสิ่งพิมพ์ทุกกรณี โดยมักมีการแบ่งแยกในโครงสร้างของนิตยสาร
6. บรรณาธิการข่าว ทำหน้าที่ตรวจแก้ รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอเนื้อหาข่าวในกลุ่มเนื้อหาที่แตกต่างกันไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ภูมิภาค กีฬา บันเทิง เป็นต้น จากนั้นจึงนำเสนอไปยังบรรณาธิการบริหารอีกชั้นหนึ่ง
7. สาราณียกร ทำหน้าที่เช่นเดียวกับบรรณาธิการ ในกรณีของสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ เช่น หนังสือรุ่นนักเรียนนักศึกษา หนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
ความก้าวหน้าในการทำงาน
ความก้าวหน้าของบรรณาธิการนั้น คือการทำให้หนังสือ นิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ให้สามารถดำรงอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ รวมถึงพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆในอนาคตจนสามารถอยู่ในตลาดที่เป็นที่พอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาเป็นบรรณาธิการบริหารได้นั้น จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับหนังสือ หรือด้านที่ตรงกับรูปแบบของนิตยสารนั้นๆ ซึ่งการขึ้นมาเป็นระดับบรรณาธิการนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถที่บุคคลอื่นๆเห็นและมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถที่จะบริหารจัดการได้ดี
อัตราเงินเดือน
ผลตอบแทนของอาชีพบรรณาธิการบริหารนั้นจะแล้วแต่รูปแบบของนิตยสาร ขนาดของธุรกิจและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบซึ่งก็จะแตกต่างกัน รายได้เริ่มต้น ประมาณ 16,500 บาท/เดือน และจะเพิ่มขึ้นตามตำแหน่งและประสบการณ์ของผู้ทำงาน โดยรายได้ของ ระดับบรรณาธิการบริหารจะอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาท ขึ้นไป ดาวน์โหลดคลิกที่นี่
